เบื้องหลังการยกเลิกโครงการ Microsoft Courier: การเมืองภายใน และบิล เกตส์


ผู้อ่าน Blognone คงจำต้นแบบแท็บเล็ต Microsoft Courier ที่เป็นข่าวตั้งแต่ปี 2009 (ก่อน iPad เปิดตัวด้วยซ้ำ) แท็บเล็ตตัวนี้ยังเป็นแค่โครงการภายในของไมโครซอฟท์ ที่ไม่เคยเปิดตัวอย่างเป็นทางการ (แต่ Gizmodo เป็นคนนำมารายงาน) น่าเสียดายว่าไมโครซอฟท์ยกเลิกโครงการไปเมื่อเดือนเมษายน 2010และสุดท้ายก็ลงเอยอย่างที่เรารู้กันว่า ยุทธศาสตร์ "แท็บเล็ต" ของไมโครซอฟท์หันมาดัน Windows 8 แทน
แต่เรื่องราวเบื้องหลังโครงการ Courier ซับซ้อนมาก ซึ่งเว็บไซต์ CNET มีสกู๊ปพิเศษในเรื่องนี้ ข้อมูลของ CNET นำมาจากการสัมภาษณ์อดีตพนักงานไมโครซอฟท์ที่เคยอยู่ในทีม Courier จำนวน 18 ราย ดังนั้นไม่ใช่ข้อมูลอย่างเป็นทางการนะครับ
เรื่องราวของ Courier แบบสรุปสั้นๆ ให้เข้าใจก่อน ก็คือ "การต่อสู้" ระหว่างทีมภายในของไมโครซอฟท์แต่ละทีม โดยมีเดิมพันเป็น "ยุทธศาสตร์แท็บเล็ต" ในภาพรวมของไมโครซอฟท์ว่าจะมุ่งไปทางไหนกันแน่ และเหตุการณ์รอบนี้ คนชี้ขาดว่าเลือกทางไหนชื่อว่า "บิล เกตส์"
การปล่อยให้ทีมงานภายในแข่งขันกันเองเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของไมโครซอฟท์มาช้านาน ทีมที่แพ้จะจบลงด้วยการปิดแผนก และย้ายพนักงานไปอยู่ในทีมอื่นๆ แทน
Courier

J Allard และ Courier

ตัวละครสำคัญในเรื่องนี้คือ J Allard (ประวัติบน Wikipedia) เขาเป็นผู้บริหารดาวรุ่งของไมโครซอฟท์ ผลงานชิ้นสำคัญคือ Xbox ที่เขาปั้นขึ้นมากับมือ ภายหลังไมโครซอฟท์ตั้งฝ่าย Entertainment and Devices Division โดยมี Robbie Bach เป็นหัวหน้า และมี J Allard เป็นมือขวาคนสำคัญ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของฝ่ายนี้ได้แก่ Zune, Kin และ Windows Phone
J Allard เป็นผู้บริหารของไมโครซอฟท์ที่ไม่มีบุคลิกแบบไมโครซอฟท์เท่าไรนัก เขาชอบกีฬากลางแจ้ง ชอบการดีไซน์ ทำงานในสตูดิโอแทนที่จะเป็นออฟฟิศ และใช้ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล
Allard ตั้งทีมย่อยขึ้นมาอีกสองทีมคือ Pioneer Studios และ Alchemie Ventures ขึ้นมาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมของคอมพิวเตอร์ในยุคหน้า จนได้ออกมาเป็นแท็บเล็ต Courier ที่เน้นการสร้างสรรค์เนื้อหา (content creation) และแตกต่างอย่างมากจาก iPad ที่เอาไว้บริโภคเนื้อหา (content consumption)
ทีมงานที่พัฒนา Courier ไม่ใช่เล็กๆ มีคนทำงานรวมกัน 134 คน แยกส่วนประกอบกันชัดเจนว่าใครทำฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ บริการบนกลุ่มเมฆ ฯลฯ ข้อมูลจากทีม Courier ระบุว่าตอนนั้นยังไม่มีผู้ผลิตรายใดสามารถตอบสนองไมโครซอฟท์ได้ จึงต้องลงมือทำเองเกือบหมดทุกส่วนประกอบ ในส่วนของระบบปฏิบัติการใช้วินโดวส์รุ่นพิเศษที่ปรับแต่งมาสำหรับ Courier โดยเฉพาะ
สถานะของ Courier ตอนที่ถูกสั่งยกเลิกถือว่าเริ่มมีตัวตนพอสมควร แต่ยังห่างไกลกับคำว่าผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์อยู่มาก

Steven Sinofsky และ Windows 8

อีกทีมหนึ่งที่พัฒนาแนวคิด "แท็บเล็ต" ภายในไมโครซอฟท์ คือทีมของ Steven Sinofsky ผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายวินโดวส์ ที่เพิ่งออก Windows 7 ได้สำเร็จ และกำลังมองหาแนวทางพัฒนา Windows 8 ให้รองรับแท็บเล็ตได้
Sinofsky เองก็เป็นผู้บริหารดาวรุ่งของไมโครซอฟท์ เขาสร้างชื่อมาจากการคุมฝ่าย Office ที่กระบวนการพัฒนาราบรื่น จนบริษัทต้องดึงเขามาแก้ปัญหาในทีมวินโดวส์หลัง Vista ออกมาแย่ ผลงานของเขาใน Windows 7 พิสูจน์ชัดว่าเขา "เอาอยู่" และคนที่ดูงานเปิดตัว Windows 8 คงเห็นหน้าเขากันทุกคน
Sinofsky เป็นขั้วตรงข้ามกับ Allard เขารักษาค่านิยมของไมโครซอฟท์ที่เน้นซอฟต์แวร์ธุรกิจแบบดั้งเดิม เน้นประสิทธิภาพมากกว่าความสร้างสรรค์ และการที่เคยคุมทั้ง Windows และ Office ทำให้เขาเข้าใจความสำคัญของ "ขุมทรัพย์" ทั้งสองอย่างนี้เป็นอย่างดี
ส่วนแนวทางการพัฒนาแท็บเล็ตของ Sinofsky ทุกคนคงเห็นจาก Windows 8 กันแล้วนะครับ (แปลว่าเรื่องนี้จบลงด้วยชัยชนะของ Sinofsky)

Courier vs Windows 8: การตัดสินใจของบิล เกตส์

สถานการณ์ของไมโครซอฟท์ในปี 2009 และต้นปี 2010 คือมีทีมสองทีมกำลังแข่งกันทำแท็บเล็ตอยู่ ทั้งสองทีมนำโดยผู้บริหารดาวรุ่งของไมโครซอฟท์ที่มีโอกาสขึ้นมาเป็นซีอีโอในยุคถัดไป ทีมแรกนำโดย J Allard ที่เคยมีผลงาน Xbox และอีกทีมคือ Sinofsky ที่เคยทำ Office/Windows
ทั้งสองทีมพอฟัดเหวี่ยงกันแบบนี้ คนที่ปวดหัวว่าจะเลือกใครย่อมเป็นสตีฟ บัลเมอร์ ในฐานะซีอีโอของบริษัท
แต่สตีฟ บัลเมอร์ก็ฉลาดไม่ใช่เล่น ในเมื่อตัวเองตัดสินใจไม่ถูก ก็แก้ปัญหาโดยไปเชิญบิล เกตส์ กลับมาตัดสินใจ
บิล เกตส์ นัดประชุมกับ J Allard, Robbie Bach และพนักงานของทีม Courier สองคน เพื่อรับฟังข้อมูลและพิจารณาก่อนตัดสินใจ การประชุมเกิดขึ้นช่วงต้นปี 2010 (ช่วงที่ iPad เปิดตัว) และจุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่คำถามของบิล เกตส์ ต่อ J Allard ว่า Courier จะอ่าน-เขียนอีเมลได้อย่างไร
คำตอบของ J Allard คือ Courier ไม่มีโปรแกรมอีเมล เพราะไม่ได้ออกแบบมาใช้แทนพีซี แต่เป็นส่วนเสริมของพีซี และคนที่มี Courier ก็ควรจะมีสมาร์ทโฟนสำหรับอ่านอีเมลอยู่แล้ว
ข้อมูลจากทีม Courier ที่ได้มาจากห้องประชุมคือ บิล เกตส์ ไม่พอใจกับคำตอบนี้ และพยายามท้าทายแนวคิดนี้ของ Allard สุดท้ายเกตส์ให้ความเห็นของเขาต่อบัลเมอร์ ซึ่งตัวบัลเมอร์เองก็ฟังความเห็นจากคนอื่นๆ ในบริษัทด้วย
CNET ประเมินว่าตรรกะของเกตส์มาจาก Exchange ที่เป็นผลิตภัณฑ์ทำเงินของไมโครซอฟท์อีกตัวหนึ่ง ถ้า Courier ไม่สามารถวางตัวอยู่ในยุทธศาสตร์ร่วมกับ Windows/Office ได้ (Exchange ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ Office) ก็ย่อมไม่มีที่ยืนภายในบริษัท

จุดจบของ Courier

จุดจบของ Courier ตามมาหลังจากการประชุมของบิล เกตส์ เพียงไม่กี่สัปดาห์ โดยสตีฟ บัลเมอร์ เดินทางไปที่สำนักงานของ Pioneer Studios เพื่อบอกเรื่องนี้ด้วยตัวเอง บัลเมอร์เรียกประชุมทีมงานในห้องประชุมใหญ่ และบอกว่า Courier ถูกยกเลิกเพราะยุทธศาสตร์ไม่สอดคล้องกับภาพรวมของบริษัท
ทีมงาน Courier เล่าว่าในห้องประชุมมีแต่ความเงียบ และทุกคนช็อคเพราะตั้งใจทำงานเต็มที่ โดยไม่ได้สนใจเรื่องยุทธศาสตร์ของฝ่ายบริหารเลย
พนักงานบางคนของทีม Courier เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า ถ้าทีมของเขาทำงานร่วมกับฝ่ายอื่นๆ ในไมโครซอฟท์มากกว่านี้ โครงการ Courier (อาจจะในรูปแบบที่ต่างออกไป) อาจเดินหน้าต่อไปได้
ทีมงานคนหนึ่งบอกว่า "การซุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ซักชิ้นจะทำให้งานเดินหน้าได้เร็วจริง แต่ถ้าโครงการใหญ่ ต้องใช้ทรัพยากรจากส่วนอื่นๆ ของบริษัทด้วย ก็ต้องเลิกซุ่มและหันมาพูดคุยแนวทางกับฝ่ายอื่นในบริษัทจึงจะประสบผล"

เรื่องราวหลังจากนั้น

  • ปัจจุบันทีมงาน Courier แยกย้าย กระจายกันไปอยู่ในฝ่ายต่างๆ ของไมโครซอฟท์ ในขณะที่พนักงานบางส่วนลาออกไปอยู่บริษัทอื่น
  • ไมโครซอฟท์จดสิทธิบัตรจากแนวคิดของ Courier (ข่าวเก่า) แต่ยังไม่มีประกาศใดๆ ในเรื่องนี้
  • หลังจาก Courier ถูกยกเลิกไม่นาน Robbie Bach และ J Allard ลาออกจากบริษัทไปทำอย่างอื่น (ข่าวเก่า) ทั้งสองคนปฏิเสธว่าการลาออกไม่เกี่ยวข้องกับการล้มโครงการ Courier
  • แนวคิด Courier ถูกนำมาสานต่อในแอพชื่อ Tapose บน iPad (ข่าวเก่า) นักพัฒนาทีมนี้ได้รับเงินลงทุนส่วนหนึ่งจาก Allard และเขาให้คำแนะนำกับทีมงานด้วย
Courier ไม่ใช่โครงการเดียวที่ Allard ล้มเหลว เพราะ Kin ก็มีชะตากรรมคล้ายๆ กัน (อ่าน เบื้องหลังความตายของ Kin การเมืองภายในไมโครซอฟท์ทำพิษ)
สรุปปิดท้ายว่าความตายของ Courier และ Kin อาจมีสาเหตุมาจากแนวทางการทำงานของ Allard ที่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของไมโครซอฟท์นั่นเอง
เว็บไซต์ Ars Technica วิจารณ์ว่าการตัดสินใจของไมโครซอฟท์ที่เลือก Sinofsky/Windows 8 นั้นถูกต้องแล้ว เพราะคำนึงถึงอนาคตระยะยาวของบริษัทเป็นหลัก แต่เหตุผลในการตัดสินใจเลิก Courier เพราะไม่มีแอพอีเมล (ตามที่ CNET กล่าวอ้าง) อาจดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไร - Ars Technica

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

microUSB 3.0 จะใช้บนสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตปลายปีนี้: ส่งข้อมูลเร็วขึ้น ชาร์จไวขึ้น

เผยภาพแรก BlackBerry London รัน BB10 จากสไลด์: เปลี่ยนอินเทอร์เฟซยกชุด

[CES 2012] Qualcomm เปิดตัวของใหม่ : Game Command, Snapdragon S4 Quad Core เเละ WiFi Display