คู่มือเลือกซื้อสมาร์ทโฟน ฉบับฉุกเฉิน: ซิงเกิลคอร์ ดูอัลคอร์ ควอดคอร์ เอาไงดี ?
นับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวงการสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ต นับตั้งแต่การบูมขึ้นมาของซีพียูแบบดูอัลคอร์ที่มาเพียงวูบเดียว ก็เตรียมเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคที่ตัวเรือธงจะเป็นควอดคอร์กันแล้ว แต่สำหรับคนที่จะซื้อสมาร์ทโฟนอยู่แล้วรอมร่อ รอไม่ไหวแล้ว จะเลือกซื้อตัวไหนดี ถึงจะมีอนาคตต่อไป โดยแบ่งจำนวนหัวของซีพียู ว่าแล้วก็มาดูกันเลยดีกว่า
รุ่นที่ใช้ซีพียูซิงเกิลคอร์
สำหรับปัจจุบันนี้สมาร์ทโฟนรุ่นที่ใช้ซีพียูแบบซิงเกิลคอร์ถือว่ายังมีจำนวนเยอะที่สุดในตลาดอยู่ แต่ถ้าหากดูอนาคตแล้ว จะเห็นว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วงอยู่พอสมควร เพราะถ้าหากไม่นับ Sony Ericsson แล้ว แทบทุกแบรนด์ชั้นนำที่ยืนแถวหน้าของวงการสมาร์ทโฟนต่างก็มีรุ่นที่ใช้ซีพียูแบบดูอัลคอร์แล้วทั้งนั้น ทำให้สถานะของสมาร์ทโฟนที่ยังเป็นซิงเกิลคอร์อยู่ จะกลายเป็นรุ่นระดับกลาง ค่อนไปทางล่างแล้วในปัจจุบัน
วิธีการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนซิงเกิลคอร์ช่วงนี้
เนื่องจากสถาปัตยกรรมของซีพียูซิงเกิลคอร์มีสองแบบใหญ่ๆ คือ ARMv6 (ARM11) และ ARMv7 (Cortex-A8) ซึ่งแบบหลังจะมีประสิทธิภาพดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นถ้าหากจะซื้อสมาร์ทโฟนเพื่อเน้นความคุ้มค่า และหวังจะได้อัพเดทในอนาคตควรเลือกแบบหลังมากกว่า โดยมีวิธีการสังเกตดังนี้
- ดูที่ความเร็วของซีพียู: ซีพียูที่ใช้สถาปัตยกรรม ARMv7 ส่วนมากจะมีความเร็วประมาณ 1 GHz เป็นต้นไป (อาจจะมีบางรุ่นที่ความเร็ว 550 และ 800) ดังนั้นควรเลือกเครื่องที่มีความเร็วเกิน 1 GHz จะดีกว่า
- เลือกชิปรุ่นที่ใหม่ที่สุด: เนื่องจากซีพียู ARMv7 นั้นมีอยู่หลายรุ่นด้วยกัน และแต่ละรุ่นถึงจะมีความเร็วเท่ากัน แต่ประสิทธิภาพไม่เท่ากันเสียทีเดียว จุดที่ต่างกันมากคือชิปกราฟิกภายใน ดังนั้นก่อนจะเลือกซื้อสมาร์ทโฟนสักเครื่อง การหาข้อมูลเกี่ยวกับรุ่นนั้นเสียก่อนก็เป็นวิธีที่ดี สำหรับชิปที่แนะนำในรุ่นซิงเกิลคอร์มีดังนี้
- Qualcomm MSM8255 และ MSM7230: มักเห็นบ่อยในสมาร์ทโฟนของ HTC และ Sony Ericsson ทั้งสองรุ่นเป็นเจเนอเรชันที่สองของ Snapdragon ซึ่งใช้ชิปกราฟิก Adreno 205 โดยรวมแล้วประสิทธิภาพแตกต่างจาก Adreno 200 ที่ใช้ใน Qualcomm QSD8250 พอสมควร
- TI OMAP3xxx : ใช้ในสมาร์ทโฟนของ LG, Samsung และ Motorola รวมถึง Nokia N9 มักใช้ชิปกราฟิก PowerVR SGX530 และ SGX540 ซึ่งชิปตัวหลังมีประสิทธิภาพสูงกว่ามาก และดูจากสถานะแล้วยังถือว่า “มีอนาคต” จึงน่าสนใจกว่า
- แรมก็ยังสำคัญอยู่ดี เครื่องที่จะใช้งานได้ดีในตอนนี้ควรจะเริ่มต้นที่ 512 MB ได้แล้ว
แล้วเลือกเครื่องไหนดี ?
สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกอะไรดี แล้วยังไม่อยากเลือกผิด ทางทีมงานได้เลือกบางรุ่นที่น่าสนใจมาให้แล้ว ดังนี้
- Sony Ericsson Xperia neo V: สมาร์ทโฟนรุ่นปรับปรุงจาก Xperia neo ด้วยชิป Qualcomm MSM8255 พร้อมหน้าจอ Reality Display พร้อมเอนจินจากบราเวียขนาด 3.7 นิ้ว
กล้องหลังมีเซนเซอร์ Exmor Rในราคาเพียง 9.900 บาท - LG Optimus Sol: รุ่นระดับกลางจากแบรนด์เกาหลี ใช้ชิป Qualcomm MSM8255 พร้อมจอ Ultra AMOLED ขนาด 3.8 นิ้ว ราคาเปิดที่ 10,900 (แต่ถ้าอยากได้กล้องมีแฟลช และจอสว่างๆ ต้องเลือก Optimus Black ที่ราคา 12,900 บาทแทนนะ)
- [ม้ามืด]สำหรับคนที่อยากได้สมาร์ทโฟน Android ราคาถูก และยังใข้งานได้ดี ขอแนะนำ Samsung Galaxy Miniสมาร์ทโฟน Android 2.3 Gingerbread รองรับสามจี 850/900 MHz ในราคาเพียง 4xxx บาท (หรือจะรอรุ่นใหม่อย่าง Galaxy Y ก็ไม่ต่างกันมาก)
รุ่นที่ใช้ซีพียูดูอัลคอร์
แม้ว่าจะเราจะเพิ่งเห็นสมาร์ทโฟนที่ใช้ซีพียูดูอัลคอร์เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานี่เอง และปัจจุบันสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ท็อปๆ ก็ยังเป็นดูอัลคอร์ แต่ถึงปัจจุบันนี้เทคโนโลยีพาเราเข้าใกล้จุดที่สมาร์ทโฟนจะใช้ซีพียูควอดคอร์เข้าไปทุกวัน หลายคนก็อาจจะคิดหนักหน่อยว่ารุ่นที่ใช้ซีพียูแบบดูอัลคอร์ในตอนนี้ยังน่าซื้ออยู่ไหม ? และสำหรับการดูซีพียูดูอัลคอร์นี่แทบจะไม่ต้องกังวลเรื่องประสิทธิภาพมากเหมือนซิงเกิลคอร์แล้ว แต่ต้องไปสนใจในส่วนอื่นอย่างแรม ขนาดหน้าจอ การซัพพอร์ตจากผู้ผลิตเสียมากกว่า
วิธีการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนดูอัลคอร์ช่วงนี้
ซีพียูดูอัลคอร์ในปัจจุบันแบ่งออกเป็นสี่ค่ายใหญ่ๆ คือ Qualcomm, TI , Samsung และ Nvidia ซึ่งแต่ละเจ้ามีประสิทธิภาพแตกต่างกันไปดังนี้
- Qualcomm: ที่ออกมาในตลาดแล้วคือ Qualcomm MSM8260 (S3) ใน HTC Sensation ที่ใช้สถาปัตยกรรม ARMv7 Cortex-A8 มีความเร็วตั้งแต่ 1 GHz – 1.5 GHz ชิปกราฟิก Adreno 220 เทียบประสิทธิภาพกับคู่แข่งแล้วถือว่าอยู่ในระดับ “กลางๆ” เท่านั้น (ส่วนรุ่นใช้ชิปตัวใหม่จะวางขายปีหน้า)
- TI (Texus Instruments) : เป็นเจ้าที่กำลังได้รับความนิยมในตอนนี้ด้วยชิปรหัส TI OMAP4430-4460 ที่ใช้ในสมาร์ทโฟนหลายรุ่น เช่น Galaxy Nexus, Motorola RAZR และ LG Optimus 3D เป็นต้น ชิปกลุ่มนี้ใช้สถาปัตยกรรม ARMv7 Cortex-A9 ความเร็วเริ่มต้นที่ 1 GHz โดยรวมประสิทธิภาพเหนือกว่าของ Qualcomm และใช้ชิปกราฟิกยอดนิยมอย่าง PowerVR SGX540 รุ่นเพิ่มคล็อกความเร็ว ประสิทธิภาพอยู่ในขั้นดี
- Nvidia: เป็นเจ้าแรกที่เปิดตัวดูอัลคอร์อย่าง Nvidia Tegra 2 ที่ใช้สถาปัตยกรรม ARMv7 Cortex-A9 ความเร็ว 1 GHz ขึ้นไป พร้อมชิปกราฟิก ULP GeForce ที่นอกจากจะนิยมใช้ในสมาร์ทโฟนแล้ว ยังใช้ในแท็ปเล็ตด้วยประสิทธิภาพอยู่ในขั้นปานกลาง
- Samsung: อีกเจ้าที่แอบมาทำชิปของตัวเองในชื่อ Samsung Exynos 4210 มีฐานผลิตจากสถาปัตยกรรม ARMv7 Cortex-A9 ความเร็วเริ่มต้นที่ 1.2 GHz ปัจจุบันใช้ในสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปของ Samsung เช่น Galaxy S II และ Galaxy Note เป็นต้น ชิปกราฟิกที่ใช้คือ Mali 400MP โดยรวมแล้วประสิทธิภาพอยู่ในระดับดีมาก แต่อาจมีปัญหากับบางแอพฯ ที่ไม่เข้ากับชุดคำสั่งของ Mali 400MP ส่วนใหญ่จะพบปัญหากับเกมส์เสียมากกว่า
ถ้าเรียงจากประสบการณ์ที่เคยจับมาสามารถเรียงตามประสิทธิภาพได้ดังนี้ Samsung Exynos > TI OMAP > Nvidia Tegra 2 = Qualcomm Snapdragon S3
นอกจากเรื่องซีพียูที่ว่าไปแล้ว ยังมีตัวแปรอย่างหน้าจอที่ปัจจุบันยังอยู่ที่ราว 800 x 480 (WVGA), 854 x 480 (WVGA+) และ 960 x 540 (qHD) แต่ขนาดหน้าจอเพื่อยืนยันการใช้งานในอนาคตได้ทันสมัยควรเริ่มต้นที่ 960 x 540 ไปจนถึง 1280 x 720 (WXGA) ที่เริ่มมีให้เห็น และมีข่าวมาบ้างแล้วในตอนนี้ และสุดท้ายคือเรื่องแรมที่น่าจะเป็น 1 GB ได้แล้วสำหรับสมาร์ทโฟนราคาค่อนข้างสูง
แล้วซื้อรุ่นไหนดีล่ะ ?
- Samsung Galaxy S II: สมาร์ทโฟนตัวแรง ที่แรงมาตั้งแต่กลางปี ที่ใช้ชิปของตัวเองอย่าง Samsung Exynos 4210 ที่แรงเหนือคู่แข่งมาก พร้อมหน้าจอ Super AMOLED Plus ขนาด 4.27 นิ้ว ราคาตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 17xxx – 18,900 บาท
- HTC Sensation: อีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจแม้ว่าสเปคจะด้อยกว่าคู่แข่งเล็กน้อย แต่จุดเด่นอยู่ที่ Sense UI 3.0 และหน้าจอ Super LCD ขนาด 4.3 นิ้วที่ไม่ใหญ่จนเกินไป วัสดุดูดี ถือถนัดมือ ปรับราคาลงมาแล้วที่ 17,200 บาท
- Motorola Atrix: อีกหนึ่งรุ่นที่เปิดตัวแรงตั้งแต่ต้นปี ตอนนี้กลายเป็นรุ่นเด่นราคาดิ่งไปแล้ว หาได้ตามร้านตู้เครื่องนอกประมาณหมื่นต้นๆ สเปคแบบ Tegra 2 ยังทันสมัย หน้าจอขนาด 4.3 นิ้ว พร้อมแบตเตอรี่ขนาดมหาศาลที่ 1,930 mAh
- [ม้ามืด] อีกหนึ่งรุ่นราคาย่อมเยาสเปคแรงจัดกับ Wellcom A100 ใช้ซีพียู Tegra 2 ส่วนอื่นอยู่ในระดับมาตรฐาน กล้อง 5 ล้านพิกเซล หน้าจอขนาด 3.7 นิ้ว ราคาเบาๆ เพียง 9,900 บาท
รุ่นที่ใช้ซีพียูควอดคอร์
ตอนนี้แม้ยังไม่มีสมาร์ทโฟนรุ่นไหนที่ใช้ซีพียูแบบควอดคอร์ออกมาให้เห็น แต่ว่าเริ่มมีข่าวมาบ้างแล้วแทบทุกค่ายไม่ว่าจะเป็น Nvidia ที่เปิดตัว Nidia Tegra 3 ฝั่ง Qualcomm เพิ่งเปิดตัว Qualcom Snapdragon S4 รุ่นควอดคอร์ที่ยังไม่ประกาศรายละเอียดที่มีความเร็วสูงถึง 2.5 GHz และฝั่ง TI ที่เตรียมเปิดตัว TI OMAP5xxx ในช่วงครึ่งหลังปีหน้า
แต่สำหรับคนที่อยากสัมผัสกับความแรงระดับควอดคอร์ไวๆ คงต้องไปเล่นของแท็บเล็ตก่อน โดยรุ่นที่เตรียมออกเร็วๆ นี้คือAsus Transformer Prime ที่ใช้ชิป Nvidia Tegra 3 พร้อมรูปลักษณ์งามหยดแบบ Ultrabook เลยทีเดียว ส่วนค่ายอื่นก็มีข่าวเช่นกัน แต่ยังไม่มีหน้าตาออกมาให้เห็น งานนี้ก็คงต้องรอกันต่อไป
กำหนดการวางขายของรุ่นที่ใช้ควอดคอร์บนสมาร์ทโฟนคาดกันไว้ราวช่วงครึ่งหลังของปี 2012 แต่อาจจะมีเซอร์ไพรส์ในงานเปิดตัวอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานาชาติอย่าง CES และ MWC ซึ่งอาจมีสมาร์ทโฟนควอดคอร์เปิดตัวในงานก็เป็นได้ ทำให้เวลาในการออกจะสั้นลงเหลือเพียงช่วงไตรมาสที่สองเท่านั้น
ใครสงสัยอะไรถามได้ในคอมเมนท์เลยนะครับ
ถ้าา ชอบลงแอป เล่นเกมมากๆ ถ่ายรูป เล่นเนท ความก้าวหน้าในอนาคต(อัพ) ตัวไหนน่าซื้อกว่ากันค่ะ se neo v/LG opt black อยากทราบมากกกก เลือกไม่ถูกจริงๆๆค่ะแล้ว แอลจี ออปฯแบลก 2.3 อัพแล้วดีขึ้นยังไงบ้าง
ตอบลบ