4G Thailand The First 100 Mbps ผนึกกำลังภาครัฐ เอกชน ก.ไอซีที,กสทช,ทีโอที,กสท,เอไอเอส,ดีพีซี สร้างปรากฏการณ์บรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูงครั้งแรกในประเทศไทย
31 มกราคม 2555 : ครั้งแรกของประเทศไทยที่ภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วยกระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร, คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ , ทีโอที, กสท.โทรคมนาคม, เอไอเอส และดีพีซี ผนึกกำลังเปิดประสบการณ์ บรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูงครั้งแรกในประเทศไทยด้วยเทคโนโลยี 4G หรือ Long Term Evolution-LTE ยืนยันศักยภาพความพร้อมเต็มรูปแบบ พร้อมเปิดให้ผู้บริโภคได้สัมผัสเทคโนโลยี 4G ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ก่อนเตรียมเปิดประมูลอย่างเป็นทางการเร็วๆนี้
นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร กล่าวในพิธีเปิดงาน “4G Thailand The First 100 Mbps” ว่า “จากแนวนโยบาย “สมาร์ท ไทยแลนด์” ของกระทรวง ICT ซึ่งนอกเหนือจากการเร่งเดินหน้านำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารของประเทศ สร้างการเติบโตของอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของคนไทยแล้ว อีกด้านคือ การหาเทคโนโลยีใหม่ๆที่มีความทันสมัยสร้างโอกาสในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม อันจะเป็นการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยอีกทางหนึ่ง นำไปสู่ที่มาของการจัดทดสอบเทคโนโลยี 4G หรือ Long Term Evolution-LTE ในวันนี้ ภายใต้การผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในฐานะมีบทบาทสำคัญที่สุดในการอนุมัติให้เกิดการทดสอบครั้งนี้ , บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) , บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) , บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการ อันถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกและเป็นนิมิตรหมายอันดียิ่งถึงความร่วมมือที่จะนำพาให้ประเทศเดินหน้าอย่างเข้มแข็ง โดยมีเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมที่ทันสมัยที่สุดสนับสนุน”
ด้าน พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และ พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติและประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ในฐานะองค์กรผู้กำกับดูแลและอนุมัติให้เกิดการทดสอบทดลองในครั้งนี้ได้ร่วมกันเปิดเผยถึงรายละเอียดการทดสอบครั้งนี้ว่า “บทบาทหน้าที่ของ กสทช. นอกเหนือจากหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่ ตลอดจนเทคโนโลยี ทั้งในส่วนของกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการและประเทศชาติได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง เกิดประโยชน์ และสร้างความเท่าเทียมกันแล้ว เรายังมีหน้าที่ติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เล็งเห็นว่าจะเพิ่มโอกาสให้แก่ประชาชน และประเทศ จากนั้นนำมาทดลอง ทดสอบเพื่อกำหนดมาตรฐานก่อนที่จะเปิดประมูลอย่างเป็นทางการในอนาคต”
“เทคโนโลยี LTE-Long Term Evolution หรือ ที่เรารู้จักกันในชื่อของ 4G เป็น 1 ในเทคโนโลยีอนาคต ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถตอบสนองการใช้งานบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูง การเรียนรู้เพื่อเข้าใจถึงคุณสมบัติของเทคโนโลยีนี้อย่างถ่องแท้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น กสทช.จึงได้อนุมัติให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) , บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) , บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ได้ทำการติดตั้งอุปกรณ์ดำเนินการทดสอบใน 2 เทคโนโลยี และ 2 พื้นที่ ประกอบด้วย
1. โครงการทดสอบและทดลองระบบบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูง Broadband Wireless Access-BWA ในย่านความถี่ 2300 MHz ด้วยเทคโนโลยี Long Term Evolution ซึ่งใช้คลื่นความถี่ในลักษณะ Time Division Duplex หรือ TDD ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งในเขตพื้นที่ชั้นใน บริเวณถนนพระรามหนึ่ง ตั้งแต่ มาบุญครองถึงเซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงชั้นนอกจากศูนย์ราชการ กระทรวงไอซีที และ สำนักงานทีโอที แจ้งวัฒนะ โดยมีจำนวนสถานีฐาน 20 แห่ง เปิดให้ทดสอบถึงช่วงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2555
2. โครงการทดสอบและทดลองระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 4 ในย่านความถี่ 1800 MHz ด้วยเทคโนโลยี Long Term Evolution ซึ่งใช้คลื่นความถี่ในลักษณะ Frequency Division Duplex หรือ FDD ในพื้นที่ จ.มหาสารคาม ในเขตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม โดยเบื้องต้นมีจำนวนสถานีฐาน 8 แห่ง เปิดให้ทดสอบถึงช่วงประมาณต้นเดือนมีนาคม 2555
โดยการทดสอบครั้งนี้เป็นรูปแบบของการทดสอบเชิงเทคนิคชั่วคราว หรือ Technical Trial ซึ่งมิได้แสวงหากำไรเชิงพาณิชย์ หรือ Non Commercial ทั้งนี้จะได้มีการเปิดโอกาสให้ทั้งกลุ่มเจ้าหน้าที่ทางเทคนิค พร้อมทั้งกลุ่มตัวอย่างของประชาชน นักเรียนนักศึกษา ได้ทำการทดสอบด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการและเข้าใจถึงรูปแบบ
ความต้องการใช้งานของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม ก่อนที่ทางกสทช.จะได้นำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการจัดการประมูลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ต่อไป”
ทั้งนี้ คุณธนวัฒน์ อัมพุนันทน์ รักษาการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ,คุณขจรศักดิ์ สิงหเสนี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกัน กล่าวว่า “ทั้ง ทีโอที และ กสท.นอกเหนือจากบทบาทของผู้ประกอบการที่มุ่งมั่นส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าแล้ว เรายังพร้อมร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่าง เอไอเอส และ ดีพีซี ซึ่งทำงานร่วมกันมายาวนานและสร้างความสำเร็จมาด้วยกันในฐานะคู่สัญญาสัมปทาน เพื่อสรรหาและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ในอันที่จะเพิ่มพูนประสบการณ์และเตรียมความพร้อมก่อนที่ภาครัฐจะเปิดการประมูลอย่างเป็นทางการ”
“เรากำลังพูดถึงการเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมของ “Smart Thailand” ซึ่งส่วนหนึ่งคือการขยาย Broadband ให้ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงโลกอินเตอร์เน็ต หรือ การใช้งาน Data ผ่าน High Speed Internet ได้ง่ายๆการมาถึงของเทคโนโลยี 4G นอกเหนือจากการใช้งานส่วนบุคคลแล้ว เรายังมองถึงการสร้างโอกาสทางการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ไร้สายความเร็วสูงผ่าน Wifi ได้ง่ายๆเพียงใช้ Aircard 4G และ WiFi Adaptor ซึ่งจะส่งผลทำให้ภาพของ National Broadband ตามนโยบายของกระทรวงICT มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง” นายธนวัฒน์ กล่าว
“นอกจากนี้การเรียนรู้เชิงวิศวกรรมในพื้นที่หลากหลายก็สำคัญ วันนี้ตลาดต่างจังหวัด มีอัตราการเติบโตของ Data มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งจ.มหาสารคามมีคุณสมบัตินี้อยู่ครบ จึงเป็นที่มา ของการเลือกเป็นจุดทดสอบ รวมถึงคลื่น 1800 MHz เองก็มีเพียงพอที่จะทำการทดสอบได้อย่างไม่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการปัจจุบัน เราจึงคาดหวังว่าจะได้ผลการทดสอบในภาพรวมอย่างครบถ้วนทั้งด้านเทคนิคและมุมมองความต้องการของผู้บริโภค”นายขจรศักดิ์กล่าว
ส่วนที่มาของการเปิดทดสอบรวมถึงรายละเอียดการทดสอบจากภาคเอกชนนั้น นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส และนายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร กรรมการผู้อำนวยการ ดีพีซี กล่าวว่า “วันนี้ผู้ใช้บริการ Data โดยเฉพาะในเครือข่ายของเรามีมากกว่า 10 ล้านราย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความต้องการด้านนี้จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในเวลาอันใกล้ การมองหาเทคโนโลยีอนาคตที่จะตอบโจทย์ดังกล่าวจึงเป็น เรื่องสำคัญที่ต้องทำควบคู่กับการให้บริการปัจจุบันอย่างดีที่สุด เอไอเอสและดีพีซี ในฐานะเอกชนที่มีความพร้อม และมีประสบการณ์ในการให้บริการเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายมากกว่า 20 ปี ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความชำนาญ ด้านวิศวกรรม, ทักษะในการปรับจูนเครือข่าย ตลอดจนความเข้าใจถึงการนำเสนอ Application ไปยังกลุ่มเป้าหมาย ที่จะเป็นไปในลักษณะของการส่งมอบประสบการณ์องค์รวม จึงเสนอขอทดลองทดสอบเทคโนโลยี 4G
ใน 2 รูปแบบ 2 คลื่นความถี่ และ 2 สถานที่ ดังกล่าวข้างต้น เพื่อจะได้เสริมทักษะ และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ตลอดจนมองถึงการผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีที่ให้บริการในปัจจุบัน เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่รับกับการประมูลที่เชื่อมั่นว่าจะมาถึงในอนาคตอันใกล้”
“วัตถุประสงค์หลักอีกประการคือ เราตั้งใจทำเพื่อประเทศโดยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาให้คนไทยได้สัมผัส ก่อนใคร อันจะทำให้มองเห็นถึงประโยชน์ที่จะปรับประยุกต์ใช้ในกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษา, ด้านการแพทย์, ด้านความบันเทิง ตลอดจนอุตสาหกรรมหลักทุกๆด้าน ที่ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยระบบสื่อสารไร้สายความเร็วสูง เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการต่อยอดการเติบโต ซึ่งเราเองเชื่อมั่นว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมรับเทคโนโลยีใหม่จากทุกมุมมองที่จะทำให้เมื่อมีการประมูลเกิดขึ้น ทุกภาคส่วนจะพร้อมเริ่มงานได้ทันทีโดยไม่ต้องรอที่จะเรียนรู้”
นายวีรวัฒน์ กล่าวถึงรูปแบบการทดสอบในครั้งนี้ว่า “เอไอเอสและดีพีซีเน้นศึกษา 4G ในด้านความเร็วและความเสถียร, รัศมีในการส่งสัญญาณ (Coverage Area), ลักษณะการใช้งานในขณะเคลื่อนที่ การ Handover ภายใต้ Coverage ที่มีความต่อเนื่อง (เฉพาะการทดสอบที่ จ.มหาสารคาม) , ความสัมพันธ์ของย่านความถี่และช่วงกว้างความถี่ที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานของเทคโนโลยี LTE, ความเร็วของการเข้าถึง Content ด้าน Multi Media แบบ HD , รูปแบบของ Application ที่เหมาะสมและตรงใจผู้บริโภค, ฯลฯ ทั้งนี้จากการศึกษาดูงานในต่างประเทศพบว่า การให้บริการ 3G และ 4G จะดำเนินควบคู่กัน โดย 3G จะเป็นโครงสร้างหลักที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ตอบโจทย์คนที่ใช้งาน Data ใน Daily Life และ Lifestyle ในขณะที่ 4G จะเหมาะกับกลุ่มเฉพาะที่มีการใช้งานเชิงลึก เช่น สถาบันการศึกษา ที่ต้องเข้าถึงข้อมูลทางวิชาการ, โรงพยาบาล หรือศูนย์วิจัยทางการแพทย์ต่างๆผ่านทาง Telemedicine หรือแม้แต่กลุ่ม ที่ทำธุรกิจด้านความบันเทิงที่ต้องใช้งาน Multimedia มากๆ ซึ่งการทดลองทดสอบครั้งนี้จะช่วยยืนยันถึง Trend ดังกล่าวได้อย่างชัดเจน”
นายวิเชียร กล่าวตอนท้ายว่า “การทดสอบครั้งนี้เป็นไปในลักษณะของ Technology Trial ซึ่งภาครัฐได้ให้ความสำคัญและร่วมมือกับเราอย่างดียิ่ง โดยเราได้รับการสนับสนุนจากพาร์ทเนอร์ ผู้ผลิต ประกอบด้วย Cisco, Huawei, Nokia-Siemens Network โดยเราคาดหวังว่าผลจากการทดสอบที่ครบถ้วนในทุกมุมมองครั้งนี้ จะเป็นการยืนยันถึงความพร้อมของผู้ประกอบการอย่างเราที่มีความรู้ความสามารถในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้งาน รวมถึงความพร้อมในระดับประเทศที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆอย่าง 4G หรือ แม้แต่ 3G ที่ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาคน สังคม และระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศเข้ามาเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการผ่าน การเปิดประมูลอย่างเป็นธรรมสำหรับภาคเอกชนอย่างเอไอเอส และ ดีพีซีนั้น ขอยืนยันผ่านการทำงานครั้งนี้ว่าเรามีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งในทุกด้านที่จะดำเนินการและส่งมอบบริการแก่คนไทย
ไม่ว่าจะเป็น 3G หรือ 4G รวมถึงเทคโนโลยีอนาคตอื่นๆ ให้แก่คนไทยเสมอ หากเวลาที่ภาครัฐเปิดโอกาสผ่านการประมูลใบอนุญาตมาถึง”
การจัดทดสอบ 4G Thailand The First 100 Mbps นั้น เปิดให้ประชาชนได้ร่วมทดสอบเทคโนโลยี 4G ด้วยเช่นกัน โดยจะมีการตั้งจุดทดสอบในพื้นที่ซึ่งมี Coverage เพื่อจะได้รับมุมมอง ความเห็นของผู้บริโภคตัวจริงอันจะถือได้ว่าเป็นเสียงสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาให้บริการอย่างเป็นทางการในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้จะมีการเผยแพร่จุดทดสอบ 4G ทั้งในกรุงเทพ และ จ.มหาสารคามให้ได้ทราบเพื่อร่วมทดสอบต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น